วิธีเคลียร์หูแบบ frenzel เป็นวิธีที่นิยมมากสำหรับคนที่ เรียน freediving เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อหูมากกว่าวิธีการเคลียร์หูแบบ valsava และสามารถดำลงไปได้ลึกกว่ามาก แต่ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกอยู่พอสมควรเพราะ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าวิธีอื่น เเต่มีขั้นตอนฝึกสำหรับผู้หัดใหม่ในบทความนี้
Free diving physiology ส่วนต่างๆ
- ส่วนที่เชื่อมปอดและลำคอคือ Trachea สามารถเปิด-ปิดโดย epiglottis
- ส่วนที่เชื่อมไปยังกระเพาะอาหารคือ Esophagus โดยปกติจะปิด
- การหายใจเข้า-ออก จะผ่านเพดานอ่อน (soft palate) เข้าสู่ปอด ถ้าเพดานอ่อนอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง ลมจะสามารถถ่ายเทจากปากเข้าจมูกได้
- ถ้าเพดานอ่อนยกขึ้น ลมจะผ่านเข้าปากได้ แต่ลมจะถูกกั้น ไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูกได้
- ถ้าเพดานอ่อนลดลง ลมจะผ่านเข้าจมูกได้แต่ผ่านเข้าไปในช่องปากไม่ได้
- ท่อยูสเตเชียนอยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูก การเคลียร์หูคือการดันลมให้เข้าไปในท่อนี้
จากรูปเป็นวิธีเคลียร์หูแบบ frenzel เราจะใช้มือปิดจมูก ใช้ลิ้นดันลมในช่องปาก ในขณะเดียวกันก็ปิดหลอดลมไว้ ลมจะถูกดันผ่านเพดานอ่อนที่เปิดอยู่เข้าไปในท่อยูสเตเชียน และเข้าไปในหูชั้นกลาง
วิธีเคลียร์หู แบบ Frenzel
- ใช้มือปิดจมูก
- เอาลมจากปอดมาไว้ในปาก
- ปิดหลอดลม
- ทำให้เพดานอ่อนมาอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางหระหว่างโพรงจมูก กับ ช่องปาก
- ใช้ลิ้นดันลมให้เข้าไปในโพรงจมูก
9 ขั้นตอน ฝึก Frenzel technique
สำหรับคน เรียน freediving ใหม่ๆอาจจะยังไม่รู้ว่าจะควบคุม หลอดลม เพดานอ่อน หรือใช้ลิ้นดันลมให้เข้าไปในท่อยูสเตเชียนได้อย่างไร ขั้นตอนด้านล่างจะเป็นวิธีฝึกเพื่อให้คุ้นเคยกับการควบคุมส่วนต่างๆที่ใช้ในการเคลียร์หู
ขั้นตอนที่ 1 : ฝึกดึงลมจากปอดเข้ามาในปาก
ให้ดันลมจากปอดเข้ามาไว้ในปาก จนกว่าจะเต็มกระพุ้งแก้ม ลองเคลื่อนลมจากเไป-มา ระหว่างปากกับปอดให้คล่อง
ขั้นตอนที่ 2 : ฝึกเปิด-ปิด หลอดลม (Epiglottis)
มีหลายวิธีที่ใช้ในการฝึกเปิด-ปิดหลอดลม
วิธีที่ 1 : กลั้วคอด้วยน้ำ
จิบน้ำไว้ในปาก แล้วเงยหน้าขึ้นให้น้ำไหลไปด้านหลังของปาก แต่อย่าให้น้ำไหลผ่านลำคอลงไป
วิธีที่ 2 : หายใจออก และสะกัดลมไว้ไม่ให้ออกมา
ให้อ้าปากออกแล้วหายใจออกผ่านปาก สะกัดลมไว้ไม่ให้ออกมา ลองใช้กระบังลมดันปอดถ้าลมไม่ไหลออกมาแสดงว่าปิดหลอดลมได้
วิธีที่ 3 : หายใจเข้าแล้ว สะกัดลมไว้ไม่ให้เข้าไป
อ้าปากแล้วหายใจเข้า สะกัดลมไว้ ไม่ให้เข้าปอด เมื่อลมไม่สามารถเข้าไปในปอดได้จะรู้สึกตึงบริเวณ epiglottis
วิธีที่ 4 : ปิดหลอดลมไว้แล้วหายใจออก
ต่อจากวิธีที่ 2 อ้าปากไว้ แต่ปิดหลอดลมไว้ในขณะที่หายใจออก ออกแรงดันลมให้ออกทางปากแล้ว เปิดหลอดลม จะมีสียงลมที่ดันผ่านปากออกมา (ฝรั่งเรียก K sound)
วิธีที่ 5 : ปิดหลอดลมไว้แล้วหายใจเข้า
คล้ายๆกับวิธีที่ 4 แต่ให้ปิดหลอดลมแล้วให้หายใจเข้า ทดลองเปิด-ปิดหลอดลม สลับไปมาจนคล่อง
ขั้นตอนที่ 3 : ฝึกควบคุมเพดานอ่อน (soft palate)
1.ปิดปาก หายใจเข้า-ออกผ่านจมูก
- อ้าปาก เอามือมาไว้ที่ปาก แล้วหายใจเข้า-ออก ผ่านจมูก ไม่ให้มีลมเข้าออกผ่านปาก
- อ้าปาก เอามือมาไว้ที่จมูก แล้วหายใจเข้า-ออกผ่านปาก ไม่ให้มีลมเข้า-ออกผ่านจมูก
- หายใจเข้าให้เต็มปอด อ้าปากหายใจออกผ่านปากอย่างช้าๆ อย่าให้ลมออกทางจมูก ในขณะหายใจออกให้เปลี่ยนมาหายใจออกผ่านจมูก อย่าให้ลมออกทางปาก
- หลังจากขั้นตอนที่4 หายใจเข้าผ่านปากอย่างช้าๆ ไม่ให้ลมเข้าทางจมูก ในขณะกำลังหายใจเข้าให้เปลี่ยนมา หายใจผ่านจมูก แต่อย่าให้ลมเข้าทางปาก
- หายใจเข้า-ออก โดยใช้ทั้งปากและจมูกพร้อมกัน วิธีนี้เป็นการฝึกให้ เพดานอ่อน(soft palate) อยู่กึ่งกลางระหว่างช่องปากกับโพรงจมูก
ขั้นตอนที่ 4 : ฝึกกลั้นลมโดยใช้ลิ้น (tongue block)
1.หายใจออกผ่านปาก แล้วหยุดอากาศโดยการปิดปาก แก้มจะป่องออก
2.อ้าปากแล้วหายใจออกผ่านปาก แล้วเอาลิ้นแตะเพดานปาก บริเวณโคนฟันหน้า อย่าให้ลมผ่านออกไป
- ฝึกซ้ำๆจนคล่อง
ขั้นตอนที่ 5 : ฝึกใช้ลิ้นดันลม
1.ใช้ปากคาบ snorkel แล้วใช้นิ้วปิดจมูก
2.หายใจเข้าทางท่อ snorkel จนเต็มปอด
3.หลังจากอากาศเต็มปอด pack อากาศเข้าสู่ปอดผ่าน Snorkel โดยใช้ลิ้นทำ tongue block ดันอากาศเข้าปอดซ้ำๆ
ขั้นตอนที่ 6 : ฝึกใช้หลอดลม และ เพดานอ่อน อย่างอิสระ
1.เอานิ้วชี้และนิ้วโป้ง มาปิดที่จมูกไว้แบบหลวมๆ ให้สามารถรู้เวลาหายใจออกได้
2.เอาอากาศเข้ามาไว้ในแก้มให้เต็ม
3.ปิดหลอดลม (epiglottis)
4.ปล่อยให้ soft palate อยู่บริเวณกึ่งกลางของปากกับจมูก
5.บีบกระพุ้งแก้มให้ลมออกทางจมูก จะรู้สึกได้ถึงลมที่ผ่านนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง
ขั้นตอนที่ 7 : รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน
1.เอามือปิดจมูก
2.เอาอากาศมาไว้ในช่องปาก
3.ปิดหลอดลม และทำให้ soft palate อยู่ในตำแหน่งกึ่งกลาง
4.เอาลิ้นแตะเพดานปาก (tongue block) แล้วดันลมจากปากให้เข้าไปในโพรงจมูก
5.เมื่อลมผ่านท่อยูสเตเชียน จะได้ยินเสียงในหู
ควรฝึกขั้นตอนนี้ให้คล่องก่อนลงไปฝึกในน้ำ
ขั้นตอนที่ 8 : ฝึกในสระน้ำ
1.ดำลงไปในสระน้ำ 2-3 เมตร โดยเอาหัวลงก่อน จนรู้สึกแรงดันในหู
2.เอามือปิดจมูก แล้วเคลียร์หูแบบ frenzel ตามที่ได้ฝึกมา
3.เมื่อได้ยินเสียง ป๊อปในหูให้ฝึกเคลียร์หูเรื่อยๆจนชำนาญ
ขั้นตอนที่ 9 : frenzel-fattah สำหรับดำในที่ลึก
เมื่อดำ free diving ลึกลงไปเรื่อยๆ จะพบว่าเราไม่สามารถเอาอากาศจากปอดมาเคลียร์หูได้อีก มีความรู้สึกเหมือนกับว่าอากาศจะถูกดูดลงปอดไปจนหมด โดยมากจะเกิดขึ้นที่ความลึกประมาณ 25-30 เมตร
วิธีแก้ปัญหานี้ คือให้เอาอากาศในปอดมาเก็บไว้ในคอและปาก ก่อนที่จะถึงความลึกที่ไม่สามารถเอาอากาศออกมาเคลียร์หูได้อีกต่อไป วิธีนี้อาจเรียกอีกชื่อว่า Mouth fill มีขั้นตอนคือ
1.หาความลึกที่เราไม่สามามารถเคลียร์หูด้วยอากาศในปอดได้อีก
2.ตั้ง dive comp. ให้เตือน 15 เมตรก่อนที่จะถึงความลึกที่เราไม่สามารถเคลียร์หูได้ เช่นถ้าไม่สามารถเคลียร์หูได้ที่ 30 เมตรก็ให้ตั้งนาฬิกาให้เตือนที่ 15 เมตร
3.เมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาเตือน ให้เงยหน้าขึ้นแล้วเอา อากาศมาไว้ในปากไว้ให้มากที่สุด แก้มจะป่องออกจนตึง
4.ปิดหลอดลม (epiglottis) เอาไว้ตลอด เพื่อไม่ให้อากาศถูกบีบลงปอด
5.เอา soft palate มาไว้ที่ตำแหน่งกึ่งกลาง และให้ลิ้นดันอากาศเพื่อเคลียร์หูตามปกติ
6.วิธีเคลียร์หน้ากาก ให้ทำเหมือนเคลียร์หูปกติ แต่ไม่ต้องบีบจมูก
———————————————————–
Leave a Comment