freediving

ประสบการณ์เรียน Freediving ที่เกาะเต่า

 

Freediving อาจไม่เหมาะสำหรับคนทุกคน เเต่กับบางคนที่อยากเรียนรู้เเละกำลังมองหาเเนวทาง เรื่องที่ผมไป เรียน Freediving ที่เกาะเต่า  อาจเป็นประโยชน์

ทำไมไป เรียน Freediving ที่เกาะเต่า

เพราะ อยากดำลงไปใต้ทะเลน่ะสิ ครั้งแรกที่ไปเที่ยวเกาะสุรินทร์  เป็นครั้งแรกที่ได้ไป snorkeling รอบๆเกาะ ในทะเลที่สวยๆ เห็นปลา เห็นปะการังที่นั่นแล้ว รู้สึกชอบมาก แล้วมีฝรั่งที่ร่วมทริป ไปด้วยกันสองคน สามารถดำน้ำลงไปในทะเลแบบไม่ต้องใส่เสื้อชูชีพ

สามารถดำลงไป ดูปลา ดูปะการังได้เอง  ในขณะที่เรา ว่ายน้ำไม่เป็น ต้องใส่เสื้อชูชีพ ลอยอยู่บนผิวน้ำ จะถอดเสื้อชูชีพออกก็กลัว เพราะว่ายน้ำไม่เป็น และทะเลลึกมาก เลยเกิดความสนใจอยากเรียนดำน้ำ

กลับมากรุงเทพฯ เพื่อนที่เคยไปเรียน Scuba ที่เกาะเต่า ก็ชวนไปเที่ยวทะเลอีก เลยได้โอกาสเรียน วิธีการใช้หน้ากาก ท่อหายใจ จากเพื่อน แถมสอนวิธีทำ Hyperventilation ก่อนดำน้ำให้อีก ตอนแรกก็คิดว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่พอได้ไปเรียนฟรีไดฟ์วิ่ง แล้วถึงรู้ว่าเพื่อนสอนผิด

พอกลับมา ก็เริ่มอยากไปเรียนดำน้ำที่เกาะเต่า เลยหาข้อมูล จนไปเจอ course สอนฟรีไดฟ์ ที่เกาะเต่า ถึงได้รู้ว่า มันมีวิธีฝึกกลั้นหายใจ และ ฝึกดำน้ำลึก ได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจอื่นๆ

เลยสนใจ และเริ่มต้นหาข้อมูล เกี่ยวกับโรงเรียนที่สอน มีที่น่าสนใจสอนอยู่สองสามแห่ง ที่เกาะเต่า แต่เลือกเรียนที่ Bigblue freediving เพราะมีรถรับส่งและได้ที่พักฟรี (เเต่ละสถาบันดีพอๆกัน)

การเดินทางไปเกาะเต่า

ไปขึ้นรถทัวร์ ของบริษัท ลมพระยา ที่ถนนข้าวสาร ค่ารถ+ค่าเรือ ไป-กลับ คนละ 2,200 บาท สามารถจองตั๋วได้จากเว็บของบริษท ลมพระยา รถออก 3 ทุ่ม หลับบนรถ ไปตื่นอีกทีตอนถึงจุดพักรถทัวร์ ตอนประมาณตีหนึ่ง

หลังจากนั้น ก็นั่งรถทัวร์มาถึงท่าเรือทุ่งมะขามน้อยที่ชุมพร ตอนตี 5 รอเรือออกไปเกาะเต่า ตอน 7 โมงเช้า ไปถึงเกาะเต่า ประมาณ 9 โมงนิดๆ

หลังจากมาถึง เกาะเต่า นั่งรถของ Bigblue ที่ติดต่อไว้ ไปที่พัก เอาของไปเก็บที่ห้อง เสร็จแล้วก็ไปหาครู ก่อนเริ่มเรียน ต้องเซ็นต์เอกสารรับรองว่า ผู้เรียนมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และ ยอมรับความเสี่ยงจากการฝึก สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ 100%

เริ่มต้น เรียน freediving

วันแรกของการฝึก Freediving เริ่มต้นจากการเรียนรู้ เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆของ Freedive เช่น Mask ,Snorkel , Fins ความแตกต่างระหว่าง Scuba กับ freediving เรียนรู้วิธี หายใจที่ถูกต้อง เพราะคนโดยทั่วไปจะหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อซี่โครง แต่การหายใจของ Freediving จะต้องหายใจโดยใช้กระบังลมเป็นหลัก

รวมถึงเรียนรู้สิ่งที่นัก freedive ทำ และห้ามทำ ในการหายใจ ก่อนและหลัง ดำน้ำ ความเสี่ยงจากการหายใจผิดวิธี เช่น Hyperventilation เป็นต้น

Hyperventilation คือการหายใจลึกและเร็ว เพื่อไล่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายเมื่อกลั้นหายใจอยู่ใต้น้ำ มักสอนให้นักดำน้ำแบบ Scuba ในสมัยก่อน

แต่การหายใจแบบ Hyperventilation เป็นสาเหตุ ของการหมดสติใต้น้ำ เนื่องจาก ทำให้สมองขาดออกซิเจนโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงห้ามนักดำน้ำแบบ ฟรีไดฟ์ หายใจด้วยวิธีนี้

เรียนรู้เกี่ยวกับ ธรรมชาติของ สภาวะการกลั้นหายใจ เรียนรู้ว่าร่างกาย จะตอบสนองระหว่างการกลั้นหายใจอย่างไร เช่น สภาพร่างกาย ในขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้น การหดตัวของกระบังลม และได้เรียนรู้ว่า ต้องทำยังไงถึงจะกลั้นหายใจได้นานมากขึ้น

ได้เรียนรู้ว่า ในขณะที่ ดำลึกลงไปใต้ผิวน้ำ แรงดันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร เช่น แรงดันที่กระทำต่อหู และ ปอด รวมถึงการตอบสนองของอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกาย ในขณะดำน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่ผู้สนใจต้องเรียนรู้ และ ฝึกฝน เช่น ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ และ ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของ การดำน้ำ freedive

หลังจากได้เรียนรู้ทฤษฎีต่างๆ ของนักฟรีไดฟ์แล้ว เราจะได้ฝึกปฏิบัติจริง วันแรกของการเรียนรู้ จะเป็นการฝึกในสระน้ำ  การฝึกวันแรก จะมุ่งที่การฝึกกลั้นหายใจด้วยเทคนิคที่ได้เรียนมา

เริ่มต้นด้วยการ กลั้นหายใจแบบ Static apnea คือ การกลั้นหายใจ แล้ว ลอยนิ่งๆ อยู่บนผิวน้ำ ฝึกอยู่สอง สามรอบ วันแรกกลั้นหายใจได้ หนึ่งนาทีครึ่ง แต่ฝรั่งที่เรียนด้วยกัน กลั้นได้นาน 3 นาทีแน่ะ ฝึกแรกๆ รู้สึกทั้งกลัว ทั้งอึดอัด อยู่เหมือนกัน แต่ก็กลั้นได้นานกว่าที่คิดไว้

หลังจากนั้น จึงเริ่มฝึกแบบ Dynamic ครูจะสอน วิธีออกตัว และ การใช้ตะกั่วถ่วงร่างกาย เพื่อให้ลอยอยู่ใต้น้ำแบบพอดีๆ หลังจากนั้น ก็กลั้นหายใจดำน้ำให้ได้ 30 เมตร ถือว่าผ่าน อันนี้ไม่ยากเท่าไหร่ หมดวันที่หนึ่ง ครูจะบอกให้ไปอ่านทบทวนเพราะวันที่สองจะมีสอบ

ส่วนวันที่สอง ออกไปฝึก Free immersion กับ Constant weight กลางทะเล ทั้งสองแบบ เป็นการดำลงไปใต้ทะเล ให้ลึกที่สุด (ตอนสอบให้ดำลงไป 10 เมตร)

ต่างกันที่ ดำแบบ Free immersion ใช้มือสาวเชือกลงไปในน้ำ ส่วน  Constant weight ตีฟินลงไปในน้ำ

อุปสรรคสำคัญ คือ การเคลียร์หู (Equalization) เวลากลับหัวลงแล้วรู้สึกว่าเคลียร์ยากมาก กว่าจะเคลียร์ได้ ดำขึ้น ดำลงจนมึนหัวไปหมด ถ้าดำได้ไม่ถึง 10 เมตรก็จะสอบไม่ผ่าน ต้องกลับมาสอบใหม่ หลายคนสอบตกเพราะ เคลียร์หูไม่ได้

หลังจากเรียนครั้งเเรก ดำลงไปได้เเค่ 6 เมตร เลยสอบตก ครูบอกว่ามาเรียนครั้งเเรกออกทะเลสอบตกเป็นเรื่องปกติ เพราะฟรีไดฟ์ต้องฝึกฝนบ่อยๆ

หลังจากสอบตก กลับมากรุงเทพฯ ก็หาความรู้เพิ่มเติม เพราะหลายๆอย่างต้องฝึกเพิ่ม เช่นการลอยตัว การเตะฟิน วิธีฝึกกลั้นหายใจ วิธี duckdive  รวมถึงไปหาสระลึก ไปเจอสระที่มหาวิทยาลัยเกษตร ลึก 5 เมตร เลยฝึกเคลียร์หูจนถึง 5 เมตรได้เรื่อยๆ ก็เริ่มชวนเพื่อนที่เคยเรียนฟรีไดฟ์มาเเล้วไปฝึกในทะเลที่ชลบุรี ฝึกซ้อม buddy safety / training

ในที่สุดพอฝึกดำได้ถึง 10 เมตร เลยกลับไปสอบซ่อมที่เกาะเต่า พอเคลียร์หูดำน้ำลงไปที่ 10 เมตรได้ก็เริ่ม ฝึกถอดหน้ากากที่ความลึก 10 เมตร และ ว่ายขึ้นมาผิวน้ำ

หัวข้อสุดท้าย คือ Rescue ช่วยเหลือ buddy ที่หมดสติในทะเล โดยเราดำลงไปช่วยครู ที่ความลึก 10 เมตร หลังจากฝึกมานานก็ผ่านสักที

สิ่งที่ได้ หลังจากเรียนฟรีไดฟ์ คือ รู้สึกมั่นใจ เวลาอยู่ในน้ำมากขึ้น ได้ลองทำ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ ซึ่งตอนนี้ Freediving เริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น นอกจากที่เกาะเต่า ก็มีโรงเรียนเปิดสอนที่กรุงเทพฯ อีกหลายที่ ทั้งของ SSI , PADI ฯลฯ สิ่งสำคัญคือต้องฝึกซ้อมเสมอๆ


 

admin

Recent Posts

Lung stretching เพื่อเพิ่มความจุปอด

     หลังจาก Jaques Mayol พบว่า การยืดเหยียดกล้ามเนื้อเเบบโยคะส่งผลต่อการดำน้ำเเบบ freediving นักฟรีไดฟ์ระดับโลกทุกคนก็ฝึก lung stretching เพื่อช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่น เวลาที่เผชิญกับเเรงดันน้ำเมื่อดำลงไปลึกๆได้ดี    …

5 years ago

เทคนิคพื้นฐานการฝึก freediving

freediving เป็นกีฬาที่ เรียน เเละฝึกฝนทักษะในการกลั้นหายใจดำน้ำ ถูกเเบ่งออกหลักๆได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ เรียนรู้การกลั้นหายใจได้นาน , กลั้นหายใจดำน้ำได้ไกล เเละ กลั้นหายใจดำน้ำได้ลึก เเต่ละแบบก็มี หัวข้อในการฝึกฝนเเตกต่างกันไปบ้าง…

6 years ago

Wetsuit freediving เเตกต่างจาก Scuba อย่างไร

ทำไมเราใช้ wetsuit freediving ? เวลาที่เราแช่น้ำนานๆ ร่างกายจะสูญเสียความร้อนออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากการถ่ายเทอุณหภูมิในน้ำมีมากกว่า เวลาที่เราอยู่บนบกถึง 25 เท่า ถ้าเราต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ wetsuit จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันเราจากความหนาวเย็นจนเป้นไข้ และเป็น…

6 years ago

Spleen effect เคล็ดไม่ลับ ทำให้กลั้นหายใจได้นาน

ม้าม ( Spleen effect )เป็น อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องด้านซ้าย ด้านล่างของกระบังลม บริเวณด้านหลังของกระเพาะอาหาร สามารถขยายและหดตัวได้ หน้าที่หลักๆของมันคือ เป็นตัวกรองเลือดที่ได้รับความเสียหาย ออกจากระบบหมุนเวียนโลหิต เมื่อเม็ดเลือดแดง เข้าไปในม้ามจะต้องไหลผ่านเข้าไปในเส้นเลือดมากมาย ที่มีลักษณะคล้ายเขาวงกต…

6 years ago

9 ขั้นตอน Free diving ฝึก Frenzel equalization

วิธีเคลียร์หูแบบ frenzel เป็นวิธีที่นิยมมากสำหรับคนที่ เรียน freediving เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อหูมากกว่าวิธีการเคลียร์หูแบบ valsava และสามารถดำลงไปได้ลึกกว่ามาก แต่ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกอยู่พอสมควรเพราะ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าวิธีอื่น เเต่มีขั้นตอนฝึกสำหรับผู้หัดใหม่ในบทความนี้ Free diving physiology ส่วนต่างๆ…

6 years ago

2 วิธีฝึก freediving กลั้นหายใจ ได้นานและสบายกว่าเดิม

หนึ่งในปัญหาที่ทรมานคนที่ฝึก freediving ใหม่ๆคือ อาการ Contraction ซึ่งเป็นอุปสรรคในการ กลั้นหายใจ และสิ่งที่คิดจะทำเป็นอย่างแรกเพื่อทำให้ร่างกายทนต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น คือ ให้ฝึกตาราง CO2 โดยมีความเชื่อผิดๆว่าจะทำให้ Contraction มาช้าลงกว่าเดิม เพราะเชื่อว่ายิ่งฝึกร่างกายจะยิ่งทนต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น…

6 years ago